ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

Extended DISC


ตามแนวคิดของ คาร์ล กุสตาฟ จุง” (Carl Gustav Jung)
เคยไหมเวลาประชุมทีไร ลูกน้องมักไม่กล้าแสดงความเห็นสักเท่าไหร่ หรือเคยไหมที่เวลาคุณมอบหมายงานอะไรไป ลูกน้องไม่เข้าใจ แต่ก็ไม่กล้าถาม หรือเคยไหม ที่คุณได้ยินแว่วๆ มาจากคนอื่นว่าลูกน้องไม่ชอบคุณ
สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากคุณอาจใช้รูปแบบการบริหารคนไม่ถูกต้อง คุณยังไม่ได้ทำความเข้าใจและยอมรับว่าคนต่างสไตล์ย่อมต้องการการปฏิบัติ และการปฏิสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน
ดังนั้น หากคุณยังใช้วิธีการบริหารคนแบบ one size fit all อาจเกิดปัญหาสะสม ทวีความรุนแรงขึ้นจนส่งผลต่อประสิทธิภาพของการทำงานได้ ดังนั้นเพื่อต้องการให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ว่ารูปแบบพฤติกรรมที่แตกต่างกันของคนแต่ละประเภทมีอะไรบ้าง แล้วนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ในการบริหารคนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ว่าแต่ละบุคคลมี รูปแบบพฤติกรรมในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่นในชีวิตประจำวันอย่างไรมาทดลองใช้กับผู้บังคับบัญชาระดับต้น หรือหัวหน้างานของสำนักงาน ก.พ.
ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้บังคับบัญชาระดับต้น หรือหัวหน้างานของข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง ดังหัวข้อ ค้นพบ และเสริมศักยภาพบุคลากรซึ่งมีผู้ฟังจำนวน 100 ท่าน
“Extended DISC” พัฒนามาจากทฤษฎีการวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์ตามแนวคิดของ คาร์ล กุสตาฟ จุง” (Carl Gustav Jung) ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาด้านพฤติกรรมเป็นคนแรกๆ โดยได้แบ่งรูปแบบพฤติกรรมมนุษย์ออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ D I S C
แต่ก่อนที่จะลงลึกในรูปแบบพฤติกรรมมนุษย์ 4 รูปแบบ D I S C ว่าคนในแต่ละรูปแบบเป็นอย่างไร อยากให้คุณลองทำแบบทดสอบเพื่อประเมินตนเองคร่าวๆ ว่า ตัวคุณมีแนวโน้มที่จะเป็นสไตล์ไหนเพื่อให้ข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์แก่ตัวคุณจริงๆ ในการนำไปปรับใช้ในการบริหารคน

 แบบทดสอบ : คุณเป็นคนสไตล์ไหน ?
แบบทดสอบนี้มี 4 ข้อ แต่ละข้อประกอบด้วยตัวเลือกซึ่งแจกแจงบุคลิก ลักษณะของบุคคลออกเป็น 4 ข้อย่อย เลือกตัวเลือกที่คิดว่าบ่งบอกความเป็นคุณมากที่สุดเพียงตัวเลือกเดียวในแต่ละข้อ
ข้อ 1
ก.ชอบสังคม รักเพื่อนพ้อง
ข.รับฟัง เก็บตัว
ค.แม่นยำ ถูกต้อง
ง.กล้าตัดสินใจ ไม่รวนเร
ข้อ 2
ก.มีความมั่นใจ กล้า
ข.จูงใจเก่ง จุดประกายให้ผู้อื่น
ค.เน้นการทำงานเป็นทีม เข้ากับกลุ่มได้
ง. ช่างซักช่างถาม ช่างสังเกต
ข้อ 3
ก.มีวินัย ควบคุมตัวเองได้
ข.มีสติ ขี้อาย
ค.ปรับตัวเก่ง ปรับตัวได้ง่าย
ง.ต้องการชนะ ชอบแข่งขัน
ข้อ 4
ก.มีระเบียบ ถี่ถ้วน
ข.กล้าเสี่ยง มีความมั่นใจ
ค.เรียกใช้ง่าย เสียสละเพื่อส่วนรวม
ง.ช่างจินตนาการ มองโลกในแง่ดี
ลองเช็กดูว่าเมื่อรวมทุกข้อแล้ว คำตอบของคุณมีสไตล์ไหนมากที่สุด (D I S C) หากคำตอบมีมากกว่าหนึ่งสไตล์แสดงว่า คุณมีแนวโน้มเป็นสไตล์ผสม และสไตล์ที่มีคะแนนมากกว่าถือเป็นสไตล์นำ แต่สไตล์ที่คะแนนรองลงมาเป็นสไตล์เสริม
ข้อ 1   ก.I    ข.S    ค.C    ง.D
ข้อ 2   ก.D   ข.I     ค.S    ง.C
ข้อ 3   ก.C   ข.S    ค.I     ง.D
ข้อ 4   ก.C   ข.D   ค.S     ง.I
หมายเหตุ แบบทดสอบนี้เป็นตัวอย่างแบบทดสอบเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ซึ่งจำลองจากแบบทดสอบฉบับสมบูรณ์ของ Extended DISC ดังนั้นผลที่ออกมาจากแบบทดสอบนี้เป็นเพียงผลคร่าวๆ เพื่อให้ ผู้อ่านเห็นภาพและเข้าใจในแนวคิดเรื่อง Extended DISC มากขึ้น
คนแต่ละสไตล์เป็นอย่างไร ?
ทีนี้พอคุณทราบคร่าวๆ แล้วว่าคุณมีแนวโน้มเป็นสไตล์ไหน เราลองมาศึกษาให้ลึกขึ้นไปอีกว่า บุคลิกลักษณะของคนแต่ละสไตล์เป็นอย่างไร ?
D – style (dominance)
กล้าตัดสินใจ เน้นผลลัพธ์ มุ่งมั่น ทำอะไรรวดเร็ว พูดจาเสียงดัง ไม่ ประนีประนอม กล้าเสี่ยง ชอบการแข่งขัน ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง ไม่ค่อยฟังผู้อื่น ตรงไปตรงมาบางทีอาจดูขวานผ่าซากไปบ้าง มีข้อเรียกร้องสูง ดื้อดึง มั่นใจในตัวเอง
I – style (influence)
เป็นคนช่างพูด ชอบเข้าสังคม ดูเป็นมิตร เปิดเผย จูงใจคนเก่ง ชอบขายไอเดีย เป็นคนร่าเริง มีอารมณ์อ่อนไหว มักหลีกเลี่ยงรายละเอียด เวลาคุยกันมักพูดออกนอกประเด็นไปเรื่อย ไม่ค่อยรักษากฎ ไม่ชอบคนน่าเบื่อและเข้มงวด
S – style (stediness)
ใจเย็น สงบ เสมอต้นเสมอปลาย ทำอะไรเป็นระบบ ละเอียดรอบคอบ ถ่อมตัว ประนีประนอม ชอบเป็นผู้ฟังมากกว่าผู้พูด จะพูดเมื่อถูกถาม มักแสดงความเห็นด้วยกับผู้อื่นตลอดเวลา ต้องการคำแนะนำจากผู้อื่น ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง
C – style (compliance)
ชอบความสมบูรณ์แบบ ยึดติดกับรายละเอียด มีเหตุผล มีหลักการ เน้นความชัดเจนถูกต้อง ให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริง เป็นคนละเอียดถี่ถ้วน มีระเบียบ ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ไม่ชอบเสี่ยง ทำอะไรอย่างระมัดระวัง
ทีนี้ทุกท่านคงได้ทราบรูปแบบพฤติกรรมของคนแต่ละสไตล์แล้ว แต่ขอย้ำนิดนึงว่าในคนคนหนึ่งอาจจะไม่ได้เป็นสไตล์เดียว 100% ก็ได้ คือคนเราแต่ละคนมักจะมีสไตล์ต่างๆ ผสมกัน เช่น อาจเป็น IS SCI หรือ ID สไตล์ เป็นต้น ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าจะมีสไตล์ใดเป็นตัวนำ บุคคลนั้นก็จะแสดงพฤติกรรมตามสไตล์นั้นมากหน่อย
นอกจากนี้ การประเมิน Extended DISC ไม่ได้แบ่งว่าสไตล์ไหนเป็นคนดีหรือไม่ดี แต่จะอธิบายการตอบสนองตามธรรมชาติของบุคคลในสถานการณ์ที่ต่างกัน เมื่อเราทราบแล้วว่าคนแต่ละสไตล์มีลักษณะอย่างไร ทีนี้มาดูกันต่อว่าการจะสื่อสารกับคนต่างสไตล์ให้ถูกใจนั้นควรทำอย่างไร
สื่อสารอย่างไรให้ถูกใจคนทุกสไตล์
หากคุณเป็น D – style สิ่งที่คุณจะสามารถทำได้เพื่อให้สื่อสารกับผู้อื่นได้ดีขึ้นคือ คุณจะต้องเน้นที่อารมณ์ และความรู้สึกให้มากขึ้น เพราะโดยปกติคุณจะให้ความสำคัญกับงาน หรือผลลัพธ์มากกว่าเรื่องอารมณ์และความรู้สึก นอกจากนี้ คุณยังควรที่จะพูดให้น้อยลงแล้วฟังให้มากขึ้น ระมัดระวังที่จะไม่เป็นผู้นำในการสนทนา พร้อมเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยแบบสั้นๆ ระวังในเรื่องของการแสดงความดื้อรั้น ไม่สุภาพ และคุณต้องมีความอดทนมากกว่านี้
หากคุณเป็น I – style สิ่งที่คุณควร ปรับเวลาสื่อสารกับคนต่างสไตล์คือ คุณควรจะพูดให้น้อยลง ฟังให้มากขึ้น เน้นที่รายละเอียดของข้อเท็จจริงให้มากขึ้น พูดแบบตรงไปตรงมามากขึ้น และพยายามอยู่ในประเด็น นำเสนอให้ช้าลง ควรเว้นระยะห่างความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นบ้างเพราะบางคนอาจไม่ชอบก็ได้ แล้วก็ต้องไม่ใช้อารมณ์มากเกินไป เน้นเหตุผลให้มากขึ้น
หากคุณเป็น S – style คุณควรที่จะแสดงออกและสื่อสารให้ดูมีชีวิตชีวาและ พูดให้มากขึ้นเพราะปกติคุณอาจจะดูเนือยๆ เงียบๆ ไม่ค่อยพูดค่อยจา นอกจากนี้คุณควรนำเสนอให้รวดเร็วยิ่งขึ้นอย่ามัวแต่รอให้ถูกถาม เน้นรายละเอียดให้น้อยลง ควบคุมอารมณ์ให้ได้
หากคุณเป็น C – style ก็จะคล้ายๆ กับคนที่เป็น S คือคุณจะต้องแสดงออกและ พูดให้มากขึ้น พูดถึงรายละเอียด ข้อเท็จจริงและตัวเลขให้น้อยลง พูดถึงเรื่องบุคคลและอารมณ์ให้มาก เน้นที่การกระตุ้นจูงใจให้มากขึ้น ระมัดระวังไม่แสดงความเย็นชา ไม่สุภาพ และห่างเหินจนเกินไป
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด Extended DISC ที่จะช่วยให้คุณได้เรียนรู้ความแตกต่างของคนแต่ละสไตล์แล้วนำทฤษฎีมาปรับใช้ในการบริหารคน การสร้างสัมพันธ์หรือลดความขัดแย้งกับผู้อื่น อีกทั้งยังช่วยให้คุณทราบว่าคุณควรจะใช้วิธีบริหารลูกน้องแต่ละสไตล์อย่างไร เพื่อให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่น
สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณจะต้องเปิดใจยอมรับในความแตกต่างของบุคคล และคุณต้องใจกว้างพอที่จะยอมรับจุดอ่อนของตนเองและยอมปรับพฤติกรรมของตนเอง เราต้องยอมรับว่าการที่เราจะไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนอื่นนั้นเป็นเรื่องยากมาก เราคงต้องปรับสไตล์ตนเองให้เหมาะกับคนในแต่ละสไตล์ก่อนเพื่อให้การทำงานหรือการสื่อสารกับผู้อื่นราบรื่นยิ่งขึ้น
เมื่อลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานรับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ เขาก็จะรู้สึกดีกับเรายิ่งขึ้น กล้าเข้าหา และพูดคุยเปิดใจอันจะส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นนั่นเอง
เพราะจุดเริ่มต้นของความสำเร็จอยู่ที่ความเข้าใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น